ความโดดเด่นและเป็นที่สะดุดตาจากสถาปัตยกรรมสไตล์บาโร้คของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำให้มีเหล่าอาคันตุกะมาเยือนอยู่เนือง ๆ ตัวอาคารสองชั้นฉาบสีเหลืองไข่ไก่ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาตรงกลางเป็นโถงทรงโดม กำแพงด้านนอกมีลายพฤกษาปั้นจากปูนประดับและซุ้มประตูหน้าต่างอย่างงดงามด้านในที่ห้องโถงใหญ่ชั้นล่างจัดแสดงประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าของตึกที่ว่าจ้างให้บริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ออกแบบก่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จฯ มายังมณฑลปราจีนบุรี แต่แม้พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะได้ประทับที่นี่ แต่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์เดิม โดยไม่ยอมเข้าพำนักที่ตึกนี้เลย ต่อมาได้ใช้ที่นี่รับเสด็จและเป็นที่ประทับแรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมดั่งที่ตั้งใจ กระทั่งเมื่อรัชกาลที่ 6 นำเสด็จพระราชธิดาคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีไปประทับยังประเทศอังกฤษ โดยตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้ประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จ.ปราจีนบุรี เพื่อเป็นสถานพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเสด็จมาทรงเปิดป้ายและเปลี่ยนชื่อเป็น รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทั้งทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ และต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี 2533 เพราะทรงคุณค่าด้านความงดงามทางสถาปัตยกรรมและมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มาของตึก ปัจจุบันบริเวณชั้นล่างปีกซ้ายของอาคารเป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มีตู้เก็บสมุนไพร ครกบดยา รางบดยา หินฝนยา ตลอดจนตำรายาไทยให้ชม โดยเปิดบริการให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 3721 1088 ต่อ 3166