สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น มาปราจีนทั้งทีต้องหาโอกาสมาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของศาสนสถานสำคัญที่สร้างตั้งแต่สมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 ถึงพุทธศตวรรษที่ 18 อย่าง ‘กลุ่มโบราณสถานสระมรกต’ ด้วยตัวเองสักครั้ง ชื่อสถานที่เรียกขานกันตามชื่อสระน้ำขนาดใหญ่ในบริเวณนั้น แต่ไฮไลต์ของที่นี่กลับเป็น รอยพระพุทธบาทคู่ยุคทวารวดีถึงยุคลพบุรีที่ขุดพบเป็นรอยสลักลึกบนแผ่นศิลาแลงตามธรรมชาติและด้วยความกว้างของสองพระบาทรวม 3.10 เมตร ยาวกว่า 3 เมตร ทำให้รอยพระบาทคู่นี้ถือว่าเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อสังเกตบนฝ่าพระบาทจะพบรูปธรรมจักรนูนขึ้นมา และมีร่องรอยกากบาทอยู่ตรงกลางสันนิษฐานว่าเป็นร่องสำหรับปักฉัตรของกษัตริย์นั่นเอง ถัดมาไม่ไกลจะมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระพุทธรูปและโบราณวัตถุจำนวนมากอยู่ในบ่อ เหลียวมองสิ่งก่อสร้างโดยรอบจะเห็นว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรโบราณ ไม่ว่าจะสระมรกต ซึ่งทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายบารายของเขมร นั่นคือเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่พอที่จะเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี โดยกรมศิลปากรยังดูแลให้มีน้ำเต็มเหมือนเมื่อครั้งอดีตด้วย นอกจากนี้ ที่แห่งนี้ยังมีสระแก้วและสระขวัญเป็นสระน้ำโบราณที่ใช้ประกอบพิธีกรรม สังเกตจากภาพสลักรูปสัตว์บน ศิลาแลงที่ขอบสระ ส่วนสระบัวหล้าและอาคารศรีมโหสถนั้นเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้